"เคยคิดเหมือนกันว่าเวลาไปดูการแสดงโซโล เราคาดหวังจะได้เห็นอะไรกันแน่ สมมติเป็นการแสดงโซโลของดนตรี ติ๊ต่างว่าเป็นโซนาตาของโชแปง ที่ดีดโดยนักเปียโนชื่อก้องอย่าง ชปีลมันน์ เราอยากเห็นโชแปงที่เล่นแบบที่เราเคยได้ยิน หรืออยากเห็นโชแปง ที่เล่นแบบชปีลมันน์ เช่นเดียวกัน เวลาที่ไปดูการแสดงโซโล นักแสดงหนึ่งเดียวคนนี้จึงเป็นหัวใจของทั้งหมด (แม้ว่าในกรณีนี้ ชื่อของผู้กำกับ และบทละครอันลือลั่นเรื่อง แฮมเล็ต จะมีส่วนในการตัดสินใจของคนที่ไปดูด้วยก็ตาม เพราะละครของเชคสเปียร์นั้น ดูกี่เวอร์ชั่น คนดูก็ไม่เคยพอ)
ชื่อของนพพันธ์ นั้นเป็นเหมือนคำเตือนอยู่แล้วว่าแฮมเล็ตเวอร์ชั่นนี้ต้อง “แนว” ต้องแรง ต้องเฮ้ว อะไรทำนองนั้น เพราะฉะนั้น ใครที่มาดูแฮมเล็ตเวอร์ชั่นนี้ และหวังว่าจะได้เห็น “แฮมเล็ต” ที่เคยเห็น แฮมเล็ตที่เต็มไปด้วยการตีความ แฮมเล็ตที่เต็มสมบูรณ์ ใส่ความเป็นเชคสเปียร์ มีฉากสำคัญครบถ้วนก็นับว่าน่าจะมาด้วยความเข้าใจผิด เพราะถ้าต้องการทำแฮมเล็ตอย่างนั้น ผู้กำกับคงเลือกทำแฮมเล็ตที่มีตัวละครครบเซ็ทตั้งแต่ทีแรก ตอนที่ตั้งใจไปดู เราจึงต้องบอกตัวเองว่า จงทำใจให้ว่างเข้าไว้ และโชคดีจริงที่ไม่ได้ดูแฮมเล็ตมาก่อนเลยซักกะเวอร์ชั่น (ทั้งเวอร์ชั่นป๋าเมล ลุงเคนเนธหรือเฮียอีธานเล่นนั่นแหละ) และถึงจะเคยอ่านบทตีความมาบ้าง แต่ก็ไม่ได้ทำให้ติดภาพ “แฮมเล็ต” คนไหนแต่อย่างใด เพราะฉะนั้น นพพันธ์จึงถือเป็นแฮมเล็ตคนแรกในชีวิตของคนเขียน และต้องขอบคุณที่เขาไม่ทำให้คนเขียนต้องเกลียดหรือสยดสยองกับแฮมเล็ต เมื่อตั้งโจทย์ในการไปดูการแสดงโซโลว่าจะไปดูความสามารถของนักแสดงที่ตีความงาน (ซึ่งคนอื่นเป็นพัน เป็นแสนเคยเล่นมาแล้ว) ให้เป็น “ตัวเอง” มากที่สุด ในการไปดูละครครั้งนี้จึงต้องการดูว่า นพพันธ์จะทำให้แฮมเล็ตกลายเป็น “ตัวเขา” ได้สักแค่ไหน และเชื่อว่าคนที่ไปดูจริงๆ ลึกๆแล้ว เมื่อไปดูแฮมเล็ตเวอร์ชั่นนพพันธ์ คนดูคงไม่ต้องการดูนพพันธ์ที่กลายเป็นแฮมเล็ต แต่ต้องการดูแฮมเล็ตที่กลายเป็นนพพันธ์ต่างหาก (งงเนอะ)
ความจริง เคยดูการแสดงของนพพันธ์แค่ครั้งเดียว และรู้สึกว่านี่เป็นนักแสดงอีกคนที่เล่น“น้อย” ต่างจากนักแสดงละครเวทีคนอื่นที่ต้องเล่นให้ “ใหญ่” เข้าไว้ ซึ่งก็ทำให้กลัว(แทน)เหมือนกันว่าเล่น “น้อย” อย่างนี้ จะเอาคนดูอยู่รื้อ แต่เอาเข้าจริง การเล่น “น้อย” แบบนี้กลับเหมาะที่สุดแฮะ เพราะ -
1)มันทำให้แฮมเล็ตคนนี้ดูเป็น The Fool อย่างที่ผู้กำกับบอกว่าตั้งใจจะให้เป็น เพราะคนที่สับสน คนที่ไม่รู้อะไรเลย คนที่ค้นหา คนที่พูดกับตัวเอง คนที่ไม่รู้จะเอายังไงกับชีวิต มันจะไม่บ้าอาละวาด แต่มันจะพูดกับตัวเองเงียบๆ และนั่งพึมพำ ด่าตัวเอง พูดจาไม่รู้เรื่องอย่างนี้แหละ (ก็บทมันยาว ใครเข้าใจทุกประโยคก็อนุโมทนา) ฉากแรกที่ออกมาก็ (ดูเหมือนจะ) พี้ยา เมาหัวราน้ำเลยนั้นเพิ่มปริศนานิดๆ ว่า ตกลง แฮมเล็ตเขาสับสนเพราะสับสนจริง หรือเพราะเมายากันแน่ (หว่า)
2) การเล่น “น้อย” ทำให้การสวมบทเป็นตัวละครอื่นดูไม่ “โดด” เกินไป อาจฟังดูขัดแย้ง เพราะคนต้องคาดหวังว่าผู้เล่นจะทำให้แต่ละตัวแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด แต่นพพันธ์ก็สามารถทำได้ด้วยการเล่น “น้อย” แต่ละเอียดของเขา เขาใส่รายละเอียดในตัวละครแต่ละตัว ซึ่งขอบอกว่า ตัวที่เขาเล่นได้สนุกที่สุด (ในความเห็นของเรา) น่าจะเป็น โพลีเนียส เพราะเป็นตัวละครเดียวที่เขาเล่นได้เป็น “เชคสเปียร์”มากที่สุด ตอนแรกคาดหวังว่านพพันธ์ตอนเป็นโอฟีเลียน่าจะเห็นความแตกต่างชัดเจนที่สุด แต่เอาเข้าจริง กลับรู้สึกว่า เขาสามารถเล่นเป็น “แม่” ได้ชัดเจนที่สุดโซโลเรื่องนี้สนุกเมื่อถึงฉากที่คนเล่นคนเดียวต้องสลับเล่นเป็นหลายคนและโต้เถียงกัน ฉากเด่นๆ ก็มีฉากแฮมเล็ตกับโอฟีเลีย ที่โอฟีเลียต้องทำท่ากลัวลนลานนั่นแหละ (บอกแล้วว่าเป็นข้อดีของการเล่นน้อย เพราะถ้าเล่น “เยอะ” ฉากนี้มันจะตลก แทนที่จะตระหนกไป) และฉากที่เป็นไคลแมกซ์ (ของเรา) คือตอนที่จับแม่มาเป็นตัวประกันแฮะ จังหวะของนักแสดงแรง แม่นยำ ไว ทำให้ไม่น่าเชื่อว่าคนคนเดียวจะทำให้เกิดความน่าตื่นเต้นเหมือนมีการปะทะกันของตัวละครหลายๆตัวได้ขนาดนี้แฮมเล็ตในบท Soliloquy นั้น ซึ่งน่าจะเป็นกิมมิคในการแสดงโซโล นพพันธ์ใช้น้ำเสียงได้เย้ยหยันเหยียดเยาะ เหมือนเขากำลังเกลียดตัวเองและคนอื่นๆ ทั้งโลกจริงๆ ภาษาร่างกายนั้นไปกันกับน้ำเสียง มันเยาะ มัน “กระแดะ” นิดๆ เหมือนกระเทยเย้ยโลก แฮมเล็ตคนนี้เลยดูน่าหมั่นไส้เป็นพิเศษ (บางอารมณ์ตอนกำลังสับสนอย่างไอ้ท่ากัดนิ้ว นั่งยองๆ ก็แอบชวนให้คิดถึง L แห่งเดธโน้ตอยู่นิดๆ แฮะ แต่ก็คงเป็นแบบฉบับการแสดงออกของคนที่อยู่กึ่งกลางระหว่างความบ้ากับความอัจฉริยะนั่นแหละ) สรุปแล้ว เราอาจไม่ได้เห็น “แฮมเล็ต” ที่ดีที่สุด แต่คนดูคงพอใจที่ได้เห็น “แฮมเล็ต” ที่น่าสนใจที่สุดคนหนึ่ง และเหนือสิ่งอื่นใด คนดูคงรู้สึกว่า ยิ่งดูยิ่งรักเชคสเปียร์ คนที่เขียนบทละครเรื่องนี้มาหลายร้อยปี แต่ยังสนุกทุกครั้งไม่ว่าจะถูกเอาไปเล่นแบบไหน"
กระทู้จากพันธ์ทิพที่พี่บิ๊กส่งมาให้อ่าน
photos by MR Banpot
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น